“ท่องเที่ยวเวียดนาม” ฟื้นตัว ททท.ดึงคนรุ่นใหม่เที่ยวไทย
นางรติวัณณ บุญประคอง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานโฮจิมินห์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามได้ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านสาธารณสุขเป็นการอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยประชากรชาวเวียดนามกว่า 80.2% ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เกินกว่าเป้าที่ทางการตั้งไว้ที่ 70% และประชากรมากกว่าครึ่งได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
โดยที่ผ่านมาได้ปรับลดมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว และชาวอาเซียนสามารถเดินทางเข้าเวียดนามในรูปแบบ free visa (ไทย 30 วัน) โดยต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีนครบโดส มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง หรือมีผลการตรวจ ATK แบบ professional use เป็นลบภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และเมื่อเดินทางถึงเวียดนามต้องโหลดแอปพลิเคชั่นติดตามตัว
นางรติวัณณกล่าวว่า ปัจจุบันบรรยากาศการเดินทางในประเทศเวียดนามเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าเวียดนามราว 90,000-100,000 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย 58,945 คน, ยุโรป 16,635 คน, อเมริกา 12,294 คน (ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้าเวียดนามราว 5 แสนคน)
สำหรับประเทศไทยนั้นขณะนี้มีสายการบินที่ทำการบินเส้นทางระหว่างไทย-เวียดนาม ทั้งหมด 5 สายการบิน คือ เวียดนามแอร์ไลน์ส เส้นทางโฮจิมินห์-กรุงเทพฯ, ฮานอย-กรุงเทพฯ, สายการบินแบมบู แอร์เวย์ส เส้นทางโฮจิมินห์-กรุงเทพฯ สายการบินไทยสมายล์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์, กรุงเทพฯ-ฮานอย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เส้นทางกรุงเทพฯ-โฮจิมินห์, กรุงเทพฯ-ฮานอย และกรุงเทพฯ-ดานัง (เริ่ม 1 พฤษภาคม) และสายการบินเวียตเจ็ทแอร์ เส้นทางโฮจิมินห์-กรุงเทพฯ, ดานัง-กรุงเทพฯ, ฮานอย-กรุงเทพฯ รวมทุกสายการบินปัจจุบันให้บริการทั้งสิ้น 52 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวตลาดเวียดนามก็ยังคงมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ โดยปัจจัยบวก คือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศระยะไกลได้รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวจึงให้ความสนใจเดินทางไปยังประเทศในแถบอาเซียนและเอเชียมากกว่า และหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ยังคงมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางเข้าประเทศอยู่ ทำให้เป็นโอกาสอันดีต่อไทยในการดึงนักท่องเที่ยวเวียดนาม
และในแง่ประชากร ชาวเวียดนามมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ปี เกือบ 35% อาศัยอยู่ในเขตเมือง และมีแนวโน้มที่กล้าจะออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 95% ระบุว่า พวกเขาเคยซื้อสินค้าทางออนไลน์ และเกือบ 45% เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องบริการการท่องเที่ยว
อ่านรายละเอียด เพิ่มเติม >>> https://bit.ly/3vQklN3
Photo Credit by : Prachachat
Article Credit by : Prachachat